สถานการณ์และนโยบายในประเทศไทย

            การใช้สุนัขนำทางในประเทศไทยยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก เพราะคนพิการทางสายตาในเมืองไทยจะนิยมใช้อยู่ 2 แบบ ได้แก่ การเดินทางโดยมีคนนำทาง และใช้ไม้เท้า ในอดีตประเทศไทยได้จัดตั้งศูนย์ฝึกสุนัขนำทางหลายแห่ง แต่สุดท้ายก็ต้องปิดตัวลง เนื่องจากไม่ค่อยเป็นที่นิยม และมีเงื่อนไขทางกฎหมาย เช่นกฎหมายห้ามนำสุนัขขึ้นรถ เข้าร้านอาหาร โรงแรม เมื่อมีข้อจำกัดเช่นนี้จึงไม่มีคนพิการทางสายตาใช้สุนัขเพื่อการนำทาง อีกทั้งเรื่องค่าใช้จ่ายในการเตรียมสุนัขนำทางค่อยข้างสูง ประกอบกับสภาพทางสังคมที่ไม่เอื้อต่อการใช้สุนัขทาง เนื่องจากตามถนนหนทางมีสุนัขจรจัดมากมาย ถ้ามีการใช้สุนัขนำทางจริง สุนัขนั้นจะไม่มีสมาธิเอาแต่หวาดระแวงสุนัขจรจัดตลอดเวลา นอกจากนี้ยังต้องดูแลเอาใจใส่สุนัขเป็นอย่างดี เช่น เรื่องอาหารการกิน การตรวจสุขภาพ การรักษาความสะอาดไม่ให้มีเห็บหมัดเป็นที่น่ารังเกียจต่อผู้พบเห็น
           ประเทศไทยเคยมีคนใช้สุนัขนำทางเป็นคนแรกนั่นคือ อาจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ได้ใช้สุนัขนำทางมาทำหน้าที่เป็นดวงตา 
            ในช่วงที่อาจารย์ไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกาได้มีโอกาสอ่านหนังสือเกี่ยวกับสุนัขนำทาง จึงกลายเป็นแรงบันดาลใจขึ้นและฝันก็เป็นจริง เมื่อสหรัฐอเมริกาได้เปิดสอนหลักสูตรสุนัขนำทางอย่างเป็นทางการ หลังจากอาจารย์สำเร็จการศึกษาแล้วได้มาเข้าคอร์สฝึกวิธีการใช้สุนัขนำทาง และปีพ.ศ. 2526 อาจารย์ได้กลับมาเมืองไทยพร้อมกับ "สกิ๊ด" สุนัขสีดำพันธุ์ลาบราดอร์ สกิ๊ดทำหน้าที่สุนัขนำทางได้ 11 ปี แล้วจากไปในปี 2537 อาจารย์จึงได้นำสุนัขตัวใหม่ชื่อ "โทบี้" มาใช้แทน หลังจากนั้น 10 ปี โทบี้ก็จากไปอีก ซึ่งปัจจุบันอาจารย์ไม่ได้ใช้สุนัขนำทางแล้ว แต่หันมาใช้ไม้เท้าเพื่อนำทางแทน

             สุดท้ายอาจารย์ได้กล่าวว่า "หลักการใช้สุนัขนำทางคือ อิสรเสรีภาพในการเดินทาง สามารถเดินทางไปไหนมาไหนก็ได้ และสิ่งที่ได้รับจากไกด์สี่ขานำทางคือการได้ออกกำลังกาย เหนือสิ่งใดคือมิตรภาพระหว่างเจ้าของและสัตว์เลี้ยง"

นโยบายภาครัฐ
            คนพิการทางสายตาในประเทศไทยส่วนใหญ่นิยมใช้ไม้เท้าขาวเพื่อนำทาง ซึ่งยังไม่มีใครใช้สุนัขเพื่อการนำทางมาก่อน (นอกจากอาจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์) เลยยังไม่มีนโยบายภาครัฐที่เอื้ออำนวยหรือคัดค้านเกี่ยวกับการใช้สุนัขนำทางอย่างจริงจัง
            ตัวกฎหมายที่เกี่ยวกับสิทธิคนพิการคือ อนุสัญญาที่ว่าด้วยสิทธิคนพิการ CRPD อนุสัญญานี้มีผลบังคับใช้กับประเทศที่ได้ลงนาม โดยประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้ลงนามแล้ว ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะข้อ 9 ความสามารถในการเข้าถึง (Accessibility) คือ เพื่อให้คนพิการดำรงชีวิตอยู่ได้โดยอิสระและมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในทุกด้านของการดำเนินชีวิต ทั้งสภาพแวดล้อมทางกายภาพ การขนส่งสารสนเทศและการสื่อสาร รวมทั้งเทคโนโลยีและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ (แต่ยังไม่ครอบคลุมถึงการใช้สุนัขนำทาง)

นโยบายภาคเอกชน

            ภาคเอกชนได้เล็งเห็นความสำคัญของสุนัขนำทาง โดยสายการบิน Jetstar ซึ่งเป็นสายการบินราคาประหยัด มีเที่ยวบินในประเทศไทยจากกรุงเทพ - ภูเก็ต เป็นสายการบินที่อนุญาตให้นำสุนัขนำทางขึ้นเครื่องได้ แต่จะต้องเป็นสุนัขที่ผ่านการรับรองขององค์กรฝึกสุนัขมาแล้ว 
            ส่วนสุนัขนำทางที่ยังไม่ผ่านการรับรอง ต้องรอการอนุมัติก่อนจึงจะเดินทางได้ ต้องขอการอนุมัติล่วงหน้าอย่างน้อย 14 วันก่อนเดินทาง จะต้องนำเอกสารที่ใช้แสดงเกี่ยวกับสุนัขนำทาง เช่น บัตรประจำตัวสุนัขนำทาง ใบรับรองสุนัขนำทาง เป็นต้น 

นโยบายภาคประชาสังคม
            ในอนาคตประเทศไทยกำลังจะมีมูลนิธิสถาบันพัฒนาผู้นำคนตาบอด ได้เล็งเห็นความสำคัญของการใช้สุนัขนำทาง จึงมีโครงการเปิดตัวโรงเรียนฝึกสุนัขนำทาง สำหรับคนตาบอดในประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดโรงเรียนฝึกสุนัขนำทางสำหรับคนตาบอด และเพื่อประชาสัมพันธ์ให้การใช้สุนัขนำทางให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายต่อไป อีกทั้งยังเป็นทางเลือกใหม่ให้กับคนพิการทางสายตาในการดำรงชีวิตด้วยตนเองโดยไม่เป็นภาระต่อสังคม
            และมูลนิธิฯกำลังจะคัดเลือกบุคคลทั่วไปเพื่อไปศึกษาหลักสูตรการฝึกสุนัขนำทางที่ประเทศสหรัฐสเมริกา เพื่อที่จะนำความรู้กลับมาถ่ายทอดให้กับโรงเรียนฝึกสุนัขนำทางในประเทศไทยต่อไป

1 ความคิดเห็น:

  1. ขอสุนัขนำทางสำฟรับคนตาบอดได้ที่เบอโทรศัพท์อะไร

    ตอบลบ